คำถามใหญ่ ๆ
‘ชีวิต’มักเต็มไปด้วยคำถามมากมายที่รอให้เราค้นพบและตอบ ทุกย่างก้าวมักมีเรื่องชวนสงสัย ตั้งแต่คำถามใหญ่ๆอย่างเช่น “เราเกิดมาทำไม ?” ยิบย่อยไปจนถึง “วันนี้จะกินอะไรดี?”
‘ อกหักละมั้ง ‘ ฟังเผินๆแล้ว อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกที่สุด แต่ก็เดาได้ว่าถ้าหากมีการจัดอันดับความงี่เง่าในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต อาการอกหักก็คงจะติดชาร์ท 1 ใน 3 แน่นอน – ทำไมน่ะหรือ ? ก็เวลาอกหักแล้วมันเหมือนเสียศูนย์ละสิ จะมีเวลาไหนอีกที่ร่างกายถูกใช้เป็นร่างทรงของความเศร้าได้เท่านี้อีก
นี่คือช่วงเวลาที่ต้องใช้น้ำตาล้างหน้า สวมใส่เสื้อผ้าที่เรียกว่าความปวดร้าว ไม่รู้เช้ารู้ดึกเพราะเก็บตัวตลอดเวลา กินเบียร์/เหล้า/ยา แทนน้ำเปล่า อาการเช่นนี้คงไม่พบในคนที่มีจิตใจปกติแน่ๆ
การเดินฟูมฟายในสายฝน ,กรีดแขน ทำร้ายตัวเองต่างๆนาๆ , เศร้าซึมจนต้องอาศัยยานอนหลับหรือเบียร์แรงๆเพื่อให้ผ่านพ้นแต่ละคืนไปได้ ,โกรธเกรี้ยวจนอยากจะวิ่งไปชกหน้ากับคู่กรณี ,ตัดผมทิ้ง เพราะหวังว่าจะเป็นหมุดหมายในการเริ่มชีวิตใหม่ อาการเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่แค่ในเอ็มวีของเพลงอกหัก
หากแต่ในชีวิตจริงก็พบเจอเรื่องราวแบบนี้ได้บ่อยๆจากข่าว เรื่องลือ พฤติกรรมของเพื่อน หรือแม้แต่ความรู้สึกของตัวเองในวันที่ต้องผิดหวังกับความรัก พฤติกรรมเหล่านี้มีที่มา หาแก่นสารได้ และไม่ไร้สาระไปซะทั้งหมด
เรื่องเหล่านี้อธิบายได้ ด้วยทฤษฏี Grief Cycle ของ Kubler-Ross ซึ่งเป็นทฤษฏีที่อธิบาย วงจรชีวิตของความผิดหวัง ด้วยการแบ่งลำดับ และแยกประเภทออกเป็นประเด็นใหญ่ๆ 5 ระยะ ที่การันตีได้ ว่าทุกคนต้องวนเวียนอยู่ในภาวะเหล่านี้ จนกว่าจะกลับมามีศูนย์ถ่วงตามเดิม
ระยะที่ 1: การไม่ยอมรับ (Denial)
เป็นระยะที่มีความรู้สึกหลายรูปแบบ มีความสับสน รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย ในระยะนี้ประกอบไปด้วย การไม่ยอมรับ และความตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไปต่อไม่ถูกเพราะจมกับความงุนงงสุดขีด
ระยะที่ 2: ความโกรธ (Anger)
เข้าสู่ความโกรธเกรี้ยวต่อผู้ที่เป็นสาเหตุให้เราผิดหวัง เป็นระยะที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการฟื้นฟูจิตใจ ผู้ที่อยู่ในระยะนี้ ควรเต็มใจ และปลดปล่อยจิตใจให้แสดงความโกรธ โดยไม่พยามปิดกั้นไว้ ยิ่งรู้สึกมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งระบายความเจ็บปวดออกจากจิตใจได้มากขึ้นเท่านั้น
ระยะที่ 3: การมีความคิดลดคุณค่าของตนเอง (Bargaining)
เป็นช่วงเวลาที่นึกย้อนกลับไปเพื่อหาความผิดของตัวเอง โดยผู้ที่อยู่ในระยะนี้ จะมีแต่คำว่า “ถ้าหากว่า …” อยู่ในหัว และจะกล่าวโทษตัวเอง พยายามขอโอกาสในการแก้ไขความผิดนั้น อยากทำทุกอย่างเพื่อให้ความสัมพันธ์กลับมาดังเดิม ความสนใจทั้งหมดจะอยู่ที่การยอมแพ้ และ ขอแก้ตัวใหม่ จึงทำให้ความเศร้าโศกนั้น เข้าไปสู่จิตใจอย่างลึกซึ้ง
ระยะที่ 4: การซึมเศร้า (Depression)
เป็นผลต่อเนื่องจากระยะที่ 3 การมีความคิดในเชิงลดคุณค่าของตนเอง (Bargaining) ในช่วงการซึมเศร้า ผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะรู้สึกว่าความทุกข์จะอยู่ไปตลอดกาล พ่ายแพ้ต่อทุกสิ่งอย่าง แม้แต่ตัวเอง และจะสูญเสียการควบคุมทั้งอารมณ์ และร่างกายของตนเอง จนอาจนำไปสู่การคิดสั้นได้
ระยะที่ 5: ยอมรับ (Acceptance)
เป็นระยะของการตื่นรู้ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความจริง และพยายามใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ ในระยะนี้จะไม่มีความโมโห และโกรธ หรือจมอยู่ในความซึมเศร้าเหมือนที่ผ่านมา จะหันมาดูเเลตนเอง ฟังในสิ่งที่ตนเองต้องการมากขึ้น และสามารถใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่มีความเศร้าโศกได้ ถ้าไม่ย้อนกลับไปยังระยะเดิมที่ผ่านมาอีก
การเศร้าโศกจากความรักในแต่ละระยะนั้น ไม่จำเป็นที่ต้องเรียงตามลำดับ มนุษย์สามารถตกอยู่ในระยะใดระยะหนึ่ง แล้วก้าวไปสู่อีกระยะ หรือ อาจวนกลับมาที่จุดเดิมก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับทัศนคติ และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป
แม้ทฤษฎี Grief Cycle จะเร้าให้เรามีความเห็นร่วมได้ แต่โดยร่วมก็ไม่มีประโยชน์นักหากจะนำมาใช้แก้ปัญหา หากแต่จะเป็นทฤษฏีที่ทำให้เราเข้าใจ ว่าเรายืนอยู่ตรงไหนบนแผนที่ของความผิดหวัง ถึงจะไม่มีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน แต่อย่างน้อย ก็ทำให้รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน และไม่หลงทางไปกับบางระยะที่ทำร้ายเราด้วยการครอบงำให้เราเชื่อว่าความทุกข์นี้จะอยู่กับเราตลอดไป
ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ระยะของการตื่นรู้จะมาถึงเสมอ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขอเป็นกำลังใจ และขอให้ทุกคนรู้ไว้ว่าความผิดหวัง หรือการอกหักในครั้งนี้ คือการเดินทาง ชีวิตมีระยะต่อไปให้เหยียบย่างอยู่เสมอ
ในช่วงเวลานี้ ชีวิตที่มีเพลงประกอบ อาจช่วยฉาบให้ความปวดร้าวเป็นเรื่องที่งดงาม ขอให้ดื่มด่ำ และ สุนทรีย์ไปกับความผิดหวังจากความรักนะครับ
อ้างอิง
https://www.tci-thaijo.org/index.php/tstj/article/download/17187/15491/