เรือเล็ก ที่เขียนป้ายชื่อติดว่า “ชีวิตหลังเรียนจบ” กำลังจะเริ่มต้นเดินทาง หลังจากที่ได้หยุดจอด เพื่อเตรียมเสบียง และต้นทุนชีวิต อยู่บนชายหาดที่ชื่อว่า “มหาวิทยาลัย” มาหลายปี ชีวิตหลังเรียนจบ จากนี้ช่างสับสนเหลือเกิน
นับเป็นเวลาหลายปี ที่บัณฑิตทุกคนได้อดทนบากบั่น อดตาหลับขับตานอน วิ่งบ้างเดินบ้าง ล้มลุกคลุกคลาน จนเรียนจบอย่างที่ใฝ่ฝันไว้ ช่วงเวลาระหว่างการเรียน ต่างก็ได้เจอเรื่องราวต่างๆมากมายทั้งวิชาการ และ วิชาชีวิต รัก โลภ โกรธ หลง ได้ถาโถมใส่ หรือไม่ก็เป็นเราซะเองที่วิ่งเข้าไปหา กับเรื่องราวเหล่านี้มากน้อยต่างกัน แต่ได้เจอเหมือนกัน ถ้วนหน้า กลายเป็นความทรงจำชุดสุดท้ายของวันเด็ก ก่อนที่จะพ้นสภาพการเป็น “เด็กมหาลัย”
เวลาระหว่างนั้นจบไป เรื่องราวระหว่างนี้ ก็เริ่มต้นขึ้น ก่อนหน้านี้เรารู้ว่าพอจบ ม.6 แล้วจะขึ้น ปี 1 , พอจบ ปี 1 แล้ว จะขึ้นปี 2 แต่หลังจากเรียนจบแล้ว .. แล้ว… แล้วมันยังไงต่อล่ะ … คำถามเชิงปรัชญาอย่าง “ตายแล้วไปไหน” ยังพอเดาๆคำตอบได้ว่ามีอยู่ไม่กี่ทาง คือ ไม่ลงนรก ก็ขึ้นสวรรค์ หรืออาจจะพลิกแพลงกว่านั้นก็ไปเป็นผีในมุมอับ ให้ผู้คนได้พบเจอแล้วโทรไปเล่าในรายการวิทยุผี แต่นี่พอเรียนจบแล้วยังไงล่ะ.. ความเป็นไปได้ มีมากมายจนคล้ายๆว่าจะเหมือนพล็อตหนังเรื่อง Avenger Endgame เลย .
ผมคงไม่บอกว่าในบรรดา 14 ล้านความเป็นไปได้นี้ คุณควรเลือกทางไหน แล้วผมก็ไม่อยากจะต้องมาไล่ให้ฟังด้วย ถึงแม้ว่าจะมีตัวเลือกง่ายๆเช่น ก็ไปหางานทำสิ,ก็ไปเรียนต่อสิ,ก็ปล่อยเป็น Gap Year สิ บลาๆๆ (ก็อดบอกไม่ได้สิน่าา)
ระหว่างนี้ คงเป็นห้วงเวลาของว่าที่บัณฑิตทุกคน จะได้ยินคำถาม ทั้งจากตัวเอง และ จากคนข้างๆบ้าน มากน้อยแตกต่างกัน ภาษาถิ่นอาจจะไม่ใช่แบบนี้ แต่ใจความฟังดูแล้วคล้ายๆจะเป็นคำ ว่า “มีงานทำหรือยัง” หรือ “จะทำงานอะไรต่อ” โชคดีหน่อยก็เจอแค่คำถาม โชคไม่ได้ก็โดนคำถากถาง หรือแย่ไปกว่านั้นก็โดนป้าเล่าเรื่องลูกของตัวเองให้ฟัง ( เห้อ )
จะทำยังไงได้ ก็ค่านิยมเรื่อง “การเรียนสูงๆจะได้ทำงานดีๆ และเป็นเจ้าคนนายคน” มันดันเป็นค่านิยมที่ฮิตกันซะเหลือเกิน ถ้าจะว่าค่านิยมนี้มันย่ำแย่ พ่อแม่ก็คงเอาเงินไปซื้ออาหารให้วัว แทนที่จะขายวัวมาส่งฟวายอย่างเราเรียน / แต่ถ้าจะบอกว่ามันเป็นค่านิยมที่ถูกต้อง มันก็ช่างเป็นความถูกต้องที่กดดันเราซะจริง แต่นั่นก็ไม่ใช่โจทย์ที่ต้องแก้ในตอนนี้หรอกครับ เพราะเผลอแปปเดียว ป้าอีกบ้านก็เดินมาถามว่า เราทำงานอะไร อีกแล้ว…
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูลจากตลาดแรงงาน หรือไม่ว่าจะข้อมูลง่ายๆจากเฟซบุ๊ก ต่างก็รายงานว่า มีผู้ว่างงานจำนวนเหยียบ 4 แสนคนในทุกๆปี น่าสะเทือนใจตรงที่จากเลขสี่แสนนั้น มี 1.6 แสนคน ที่เรียนจบ ป.ตรี เป็นเลขที่ไม่ตลก หรือต่อให้ข่าวนี้ถูกรายงานโดยตลกคณะเชิญยิ้ม เราก็ขำไม่ออกอยู่ดี เพราะขาของเราก็ก้าวไปอยู่ในเลขจำนวนนั้นขานึงซะแล้ว ตัวเลขไม่ใช่น้อยๆเลยนะนั่น ถ้าคิดเป็นกราฟกลมๆแล้ว คือจำนวน 1 ส่วน 3 เลยนะ
อ่านมาจนถึงตรงนี้ ห่อเหี่ยวใจใช่มั้ยครับ ช่างเป็นงานเขียนที่ไม่จรรโลงใจ บั่นทอนกันด้วยการเอาข้อมูลมาอัดๆๆ บอกแต่ปัญหาๆๆ แล้วยังไม่มีทางออกให้อีก
ไม่ใจร้ายขนาดนั้นครับ ผมขอให้อีกหนึ่งมุมมอง ( ท่ามกลางมุมมองอื่นๆที่คุณอาจได้รับฟังมาก่อนหน้านี้ ) นั่นคือให้มองเรื่องนี้เป็น”เรื่องปกติ”ครับ (มันง่ายขนาดนั้นเลยหรอ) มันไม่ง่ายขนาดนั้นหรอกครับ การยอมรับสิ่งที่ไม่ได้อย่างใจให้เป็นเรื่องปกตินี่ยากมากแน่ๆ แต่นี่ก็น่าจะเป็นความจริงแรกๆ ที่โลกนอกรั้วมหาลัยจะสั่งสอนเรา
ไม่มีอะไรได้อย่างใจไปซะหมด / ไม่มีอะไรทันใจไปตลอด / และไม่มีแนวข้อสอบให้ขีดปากกาไฮไลท์อีกต่อไป ผมพูดได้เพราะผ่านช่วงนั้นมา แต่ก็ยังไม่ถือว่าผ่านไป บางทีการพยายามไปทำอะไรกับมันมากนัก การหวังถึงจุดสิ้นสุดของการเดินทาง ก็อาจทำให้เราเหนื่อย ท้อ จนไม่อยากจะเริ่มเลยก็ได้
ถ้ายังจำได้ ผมจั่วหัวบทความนี้เปรียบว่าชีวิตเปรียบเหมือนเรือ ( ถ้าจำไม่ได้ก็เดาๆเนียนๆไปก่อน) ผมอุปมาว่าชีวิตในตอนนี้ ไม่ต่างอะไรกับเรือลำเล็กๆ ที่ถึงเวลาต้องออกจากฝั่ง อาจจะออกเพราะโดนบังคับโดยค่านิยม หรือแล่นออกไปเองเพราะมีเป้าหมาย แต่นี่ ก็ถือเป็นการออกเรือในช่วงที่ฤดูมรสุมทั้งนั้น และในวันที่ต้องออกเรือไป แน่นอนว่ามีความใจหาย ทั้งเพื่อนที่เรียนขับเรือมาด้วยกัน ทั้งชายฝั่งที่คุ้นเคย ค่อยๆแยกห่าง ทั้งจากชายฝั่ง ทั้งจากเรือลำอื่นๆ
ระหว่างลอยลำ บ้างก็แล่นฉิวเพราะเรือมีเครื่องยนต์ บ้างก็ไปแผ่วๆเพราะต้องอาศัยแรงลม แต่คลื่นลมก็ไม่ใจร้าย ถึงจะไม่ออกแรงพาย ชีวิตก็ยังลอยไปเรื่อยๆ
ผมมีเพื่อนหลายคน มีน้องหลายกลุ่ม หรือเผลอๆก็อาจจะเป็นผมเองด้วย ที่กำลังหงุดหงิด และท้อแท้กับช่วงเวลาที่ต้องรอแรงลม ทำไงได้ ในเมื่อชีวิตมันไม่เอื้อ เครื่องยนต์ไม่มี เส้นทางไม่ชัด เสียงคำถามก็ยังดังไม่หยุด โลกนี้ช่างไม่อ่อนโยนกับเราเอาเสียเลย
ในระหว่างทางฝัน ถ้ายังเอาตัวไปวางที่ปลายทางไม่ได้ ก็คงต้องเอาใจและความคิดนำไปก่อน โชคดีของเรือที่แล่นไม่ฉิว ก็คือ ยังพอมีเวลาให้คิด และ ยังมีเวลาปรับทิศทางซะใหม่ อาจต้องมาทบทวนดูดีๆว่า เราต้องการมุ่งสู่ใจกลางมหาสมุทรจริงหรือไม่ หรือที่จริงแล้วเรามันเป็นเรือตระเวนชายฝั่งก็พอ ปลายทางของเราคือที่ไหนกันแน่ ?
ต้องมีแน่ๆหละ ไอ้เพื่อนที่แล่นฉิวไปก่อน ต้องมีแน่ๆหละ ความอิจฉาที่มีต่อเพื่อนที่แล่นฉิวลำเมื่อกี้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า จะอยู่ตรงไหนก็มีปัญหาตรงนั้น เรามีปัญหาอยู่ตรงนี้ แต่ว่าเค้าก้มีปัญหาอยู่ตรงโน้น น่าแปลกที่เราเริ่มอิจฉาเพื่อนบางคนที่ไปได้ไกล ทั้งๆที่ถ้ามาถามกันจริงๆแล้ว ทางเส้นนั้นอาจไม่ใช่ทางที่เราอยากไปเลยก็ได้ ฉะนั้น ถ้าจะเอามาเปรียบเทียบกัน มันก็ดูผิดฝาผิดตัวไปหน่อย
อย่าลืม ว่าตอนนี้พึ่งออกมาจากฝั่ง คุณไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เพื่อนที่ห่างไปก้ใช่ว่าจะหายซะทีเดียว อาจารย์ที่รู้จักก็ยังอยู่ ทักษะที่ฝึกมาก็เต็มมือ (เว้นซะแต่ คุณจะไม่มีอะไรที่ผมว่ามาเลย อันนี้ Inbox มา เดี่ยวผมจะปลอบใจให้เป็นการส่วนตัว) เวลานี้แหละ ท้าทายสุดๆ สนุกสุดๆ ถึงจะล่มก็ล่มมันซะตั้งแต่ตอนที่น้ำยังตื้นๆเลย ลองถูกลองผิดไป เผลอๆวันนึงก็อาจจะรู้ตัวว่าออกเดินทางมาซะแล้ว ทั้งๆที่คิดว่าน่าจะมาไม่ได้
เรือเล็กลำนี้ กำลังค่อยๆเคลื่อนออกจากฝั่งไปอย่างเนิบๆ วันเวลาค่อยๆพัดพาความจริงมาให้รู้จัก อาจเจ็บปวดบ้าง ท้อแท้บ้าง หรือบางทีก็ถึงกับดับฝันไปเลยก็มี แต่อยากให้คิดว่าเรื่องนี้มันจะไม่อยู่กับเราตลอดไป ชีวิตคือเรือที่ลอยอยู่ในทะเล ถึงเราไม่ทำอะไร ก็จะมีลมมีคลื่นมาพัดไปอยู่ดี อ่านมายืดยาวถึงตรงนี้ คุณอาจจะพอจับใจความได้ว่า ไอ้สิ่งที่คุณกำลังเผชิญ กำลังรู้สึกอยู่นี่ มันเป็น “เรื่องปกติ”