“ทำไมชีวิตมันดีจังวะ”
ไม่ค่อยแน่ใจ ว่านั่นเป็นประโยคคำถาม หรือการอุทานที่ฉุนเฉียว เลื่อนๆโทรศัพท์ไปก็คิดไม่ตก ภาพที่เห็นตรงหน้า เป็นแหล่งกำเนิดเสียงจากเครื่องหมายคำพูดได้เป็นอย่างดี – ทั้งดูดี, อยู่ดี, กินดี, ความสัมพันธ์ดี, สังคมดี, ไลฟ์สไตล์ดี โอ้โห.. ดูดี(ไปรึเปล่า)ว่ะ – แถมคำว่า “มัน” ในที่นี้ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล เป็นเพื่อน พี่ น้อง หรือใครซักคน ที่ปรากฏขึ้นมาบนหน้าโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ และถ้าจะสรุปว่านี่คือ ความอิจฉา ผมอาจจบการเขียนไว้แค่ตรงนี้ แต่เพราะคิดว่ามันน่าจะมีอะไร ผมเลยจะขอเขียนต่อ
“ จะบอกว่าคนอื่นขี้อวด ? ”
ใช่ครับ ถ้าไม่สันนิฐานแบบนั้น ผมคงไม่เขียนต่อมาถึงตรงนี้ จะว่าไปแล้ว การอวด(ว่ามี)ดี เป็นอะไรบางอย่าง ที่ละม้ายคล้ายแฟชั่น นั่นคือทำกันเป็นเทรนด์ เป็นกระแส เป็นป้ายที่แปะบอกให้รู้ว่ากูก็มี ใครๆก็ทำกัน – ในการอวดนั้นอาจมีเนื้อหาว่าฉันดูดี ฉันกินอร่อย ฉันอยู่สบาย ฉันมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ฉันอยู่ในสังคมที่กว้างขวาง และ ฉันมีรูปแบบชีวิตที่สุดยอด ขอเหมารวมว่าสิ่งเหล่านี้คือ ความสุข ..ใช่ ฉันมีความสุข แต่ไม่ใช่แค่ฉัน เพราะ เขา-เธอ-มัน-คุณ-ท่าน ต่างดูมีความสุขไม่น้อยหน้ากัน ทุกคนดูมีความสุขกันหมด ท่ามกลางสมรภูมิความสุขนี้ ใครกันที่ชนะ หรือใครนะที่พ่ายแพ้
“ ก็เป็นเรื่องของเขาหรือเปล่า ”
ทั้งใช่ และ ไม่ใช่ ถ้าจะฟันธงว่าไม่ใช่เรื่องของเรา เหตุใดเรายังรู้สึก.. รู้สึกตกค้างตั้งแต่ย่อหน้าที่แล้ว รู้สึกอะไรบางอย่างจนหยุดคิดกับมันไม่ได้ จะว่าอิจฉา.. ก็น่าจะใช่ หรือ ริษยา.. อาจไม่แน่ใจนัก หรือจะว่าไปเราเคยโพสต์หรือแสดงออกว่าเรามีความสุขในทำนองนั้นเหมือนกันรึเปล่า ไม่แน่ใจว่าคนอื่นจะมองว่าเราขี้อวดมั้ย … ถ้าใช่ แสดงว่าเราเองก็อยู่ในสนามประชันความสุขนี่เหมือนกันละสิ
“ถ้างั้นใครๆก็อวดความสุขละสิ”
ด้วยความที่ว่าผมไม่กล้าสรุปร้อยเปอร์เซ็น ว่านี่เป็นเรื่องที่ใครๆก็ทำ ผมเลยไปย้อนดูที่ไปที่มาของการโอ้อวด ว่าเป็นกันมานานแล้ว หรือเพิ่งเกิดขึ้นพร้อมๆกับที่พ่อขุนรามคำแหงได้ตอกสลักอักษรลงบนศิลาจารึก ซึ่งต่อให้เป็นอย่างนั้น ก็ยังถือว่าเนิ่นนานอยู่ดี
“อวดกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ(ขุนราม)”
หลังจากได้ข้อมูลมาพอสมควร ทั้งทางประวัติศาสตร์ ชีวะวิทยา หรือ จิตวิทยา สรุปได้ประมาณว่ามนุษย์เราโอ้อวดกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ คนที่ทำการอวดคนแรก อาจกระทำด้วยการ ชูเนื้อชิ้นใหญ่ขึ้นเหนือหัว แล้วร้องว่า “อุกะ อุก่ะ ซูลู ลู่ ” … ใช่ครับ เรื่องนี้เกิดขึ้นมานาน จนพ่อขุนรามคำแหงเองก็ต้องตกใจ เพราะเราโอ้อวดกันตั้งแต่ยังไม่มีภาษาซะอีก การโอ้อวดในแต่ละยุค กระทำผ่านรูปแบบที่แตกต่าง แต่มีใจความเดียวกัน คือ “เพื่อแสดงถึงอำนาจ” และ “คุณค่าของการคงอยู่” – เมื่อมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การแสดงออกว่าเรามีค่าในสังคม จึงเป็นเรื่องปกติ และ แสนธรรมดา เพราะสถานภาพทางสังคมและปริมาณความสุข เป็นข้อมูลสำคัญที่มนุษย์ใช้เปรียบเทียบและตัดสินว่าตัวเรายืนอยู่ในจุดที่ดีหรือจุดที่ตกต่ำเมื่อเทียบกับคนในสังคมเดียวกัน
“ก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติ แต่มันก็ยังขัดใจอยู่ดี”
กับคนสมัยก่อน ผมไม่แน่ใจนักว่าจะมีโอกาสไหนให้อวดกันได้บ้าง ..ที่วัด , งานแต่ง ,งานบวช , งานเลี้ยงรุ่น , หรือ งานศพ . ผมเดาได้ประมาณนี้ แต่ในใจความของแต่ละสถานที่ คือต้องเจอกันตัวเป็นๆ หน้าต่อหน้า ขับรถหรูมาเลย แต่งหน้าสวยมาเลย ควงแฟนหน้าตาดีมาเลย หรือใส่เพชรเม็ดเป้งมาเลย อวดกันจะๆ นานๆทีก็ถือเป็นการอัพเดตความก้าวหน้าไปในตัวด้วย
แต่ในปัจจุบัน ฟังก์ชั่นของการอวดเริ่มไม่ยึดโยงกับการเผชิญหน้า และ เริ่มหลุดจากกรอบเวลาที่ว่าต้องนานๆที .. นี่มาถี่ มาจากหลานคน หลายอาชีพ หลายชนชั้น หลายเวลา และ เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ ชนิดที่ว่าเลื่อนไปเล่นๆไม่เกิน 3 ครั้ง จะต้องเห็นกันบ้างแหละหน่า
“แล้วอย่างไหน ที่เรียกว่าอวด”
ด้วยความสงสัยที่อาจไต่ไปถึงขั้นโรคจิต ผมเริ่มสังเกตุและแบ่งลักษณะของรูปถ่ายที่บ่งบอกถึงการอวดได้ 7 รูปแบบ แบ่งย่อยๆเป็นลักษณะดังนี้
1) รูปที่ถ่ายตัวเอง (หรือเซลฟี) – แสดงถึงความงดงาม หรือความภูมิใจในบุคลิกภายนอก
2) รูปถ่ายอาหาร – แสดงถึงการได้กินอาหารที่อร่อย(รวมถึงราคาสูง) ในโอกาสสำคัญ
3) รูปถ่ายสถานที่ที่เราอาศัยอยู่ – แสดงถึงความสะดวกสบาย และไลฟ์สไตล์
4) รูปถ่ายกับคนรักหรือสมาชิกครอบครัว – แสดงถึงความมั่นคง และ ความอบอุ่น
5) รูปถ่ายกับกลุ่มเพื่อนหรือสังคมในที่ทำงาน – แสดงถึงบรรยากาศในการทำงานที่ดี
6) รูปถ่ายปาร์ตี้ – แสดงถึงชีวิตที่สนุกสนาน และ อิสระ
7) รูปถ่ายสัตว์เลี้ยง – แสดงถึงศักยภาพในการดูแลชีวิตอื่นๆ
และ …
8) รูปอะไรซักอย่าง ที่มีแคปชั่นประมาณว่าไม่อยากอวด
นัยยะสำคัญของข้อ 8 นั่นคือ รูปอะไรซักอย่าง ที่มีแคปชั่นประมาณว่า ไม่อยากอวด น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกอิจฉาอยู่บ่อยๆ …พูดแบบนี้อาจจะไม่เห็นภาพ ผมขอยกตัวอย่างแคปชั่น เช่น
- “ โนแอพ ” // แนบรูปเซลฟี่ตัวเอง
- “ ขอบคุณเจ้ามือ ” // แนบรูปอาหาร
- “ ไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ” // แนบรูปคู่กับแฟน
- “ ที่นี่ที่ไหนกันนะ” // แนบภาพสถานที่ซักแห่ง
“ มันก็ปกตินี่ สรุปว่าเรามันขี้อิจฉาเองนี่หว่า ”
ถึงตรงนี้ ผมปฏิเสธไม่ได้ว่าบทความนี้ ริเริ่มจากความอิจฉา ขับเคลื่อนด้วยความสงสัย และจบลงด้วยความเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ของทั้งสองหัวข้อ … ใช่ครับ ความอิจฉา เป็นเรื่องธรรมดา และก็ใช่อีก การอวดความสุขนั้น เป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน คิดวกไปวนมา จบลงที่ความธรรมดาได้ยังไงกันเนี่ย
“ แต่เพื่อไม่ให้บทความนี้ดูธรรมดาเกินไป ผมเลยอยากชวนสังเกตสักนิดครับ”
ผมลองไปเปิดดูพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถานดูแล้ว กลับได้ใจความบางอย่าง ที่จะมาพลิกเกมส์ของข้อสงสัย ดังนี้ครับ
อวด
ก. สำแดง, แสดงให้เห็น, ทำให้เป็นที่ประจักษ์.
โอ้อวด
ก. อวด, พูดยกตัว, พูดอวดความรู้ความสามารถหรือความมั่งมี.
การอวด กับ การโอ้อวดนั้น ออกเสียงต่างกันแค่พยางค์เดียว แต่ความหมายนั้นต่างกันราวฟ้ากับเหว เพราะการอวด คือการแสดงให้เห็น ถือเป็นสิ่งที่สุดแสนจะธรรมดาที่ใครๆก็ใคร่จะทำ แต่การโอ้อวดนั้น คือการยกตน ให้ดูเหนือกว่าผู้อื่น ซึ่งทั้งสองคำนี้ก็ไปตอบโจทย์ว่าเป็นการการะทำเพื่อแสดงอำนาจ และ แสดงออกถึงความมีคุณค่าให้แก่ตัวเอง ส่วนจะมากจะน้อย จะน่าชื่นชมหรือน่าหมั่นไส้ ก็ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นของแต่ละคน ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ต้องแยกมันออกจากกันให้ดี ว่าที่เรากำลังเห็นอยู่นั้น มันคือการอวดแบบไหนกันแน่
“ เออ งั้นช่างมันเถอะ ”
ผมไม่ได้พูดด้วยน้ำเสียงประชดประชัน แต่บอกด้วยความเข้าใจว่า “ช่างมันเถอะ” เพราะไม่ว่าจะอย่างไร แค่เลื่อนนิ้วบนโซเชี่ยลมีเดียไม่เกิน 3 ที ก็เจอการอวด ไม่ว่าจะอย่างไร การอวดนั้นจะทำให้เราอิจฉาอยู่เสมอ มันเป็นกระบวนการของสัตว์สังคม ถ้ารับไม่ได้ ก็ควรเอาตัวออกห่าง คงไม่ถึงกับต้องลี้ภัยไปไหนต่อไหน ผมเชื่ออย่างสุดใจว่าเราจะต้องอยู่กับมัน จนตายกันไปข้าง
ต้องย้อนกลับมาเตือนใจ ว่าสิ่งที่ต้องรับมือเมื่อรู้สึกว่าตัวเองอิจฉา คือการแยกว่าข้อมูลที่เห็นนั้น คือ การอวด หรือ การโอ้อวด หลังจากนั้นคงต้องลองคิดเอาเอง จากความหมายในพจนานุกรมที่ผมบอก
หรือถามอีกทีอย่าง “ เราไม่ยินดีกับ เพื่อน พี่ หรือน้อง ของเรา ที่เค้ามีชีวิตที่ดีเลยหรือ ” ถ้าจะตอบแบบพระเอก คงใช่ เราควรยินดี แต่ก็คงไม่ทุกครั้งทุกกรณีหรอกใช่มั้ยล่ะ มีคำพูดจากหนังเรื่องหนังเรื่อง 3idiot ทำนองว่า
“ เป็นเรื่องน่าประหลาด
พอเพื่อนย่ำแย่ เรารู้สึกไม่ดี
พอเพื่อนได้ดี เรารู้สึกแย่”
จริงหรือไม่ ก็แล้วแต่ว่าใครจะตีความ
สุดท้าย ไม่ว่าเราจะอิจฉาหรือริษยาแค่ไหน คนเหล่านั้นที่เราเห็นในโซเชียลมีเดีย ต่างก็เป็นคนในชีวิตเรา ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องผาผลาญมิตรภาพด้วยไฟอิจฉา ในสมรภูมิความสุขนี้ไม่ได้มีแค่เราเพียงคนเดียวที่ต้องฝ่าฟัน ใครๆก็ต้องเผลอรู้สึกกันบ้างแหละ นี่จึงจำเป็นที่ความเข้าใจที่มีต่อตัวเอง รู้เท่าทันความอิจฉา และเป็นประชากรโซเชี่ยลที่ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป .
อ้างอิง
https://themomentum.co/happy-self-help-socialmedia-show/