ชีวิตที่มีเพลงประกอบ น่าจะเป็นชีวิตที่งดงาม คล้ายมิวสิควีดิโอ แม้ยามฝันก็ชวนให้ตื่น หรือยามตื่นก็ยังมีฝัน อาจไม่ใช่ภาพที่สวยงาม แต่ก็ทำให้เศร้าโศกได้ อย่างมีสุนทรียะ
ผมนั่งพิมพ์บทความนี้ ตอนฟังเพลงบลูส์บรรเลง กับจิบเบียร์ไม่กี่กระป๋อง คิดว่าอารมณ์ครึ้มอกครึ้มใจแบบนี้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการปล่อยใจไปกับเสียงเพลงและฤทธิ์เบียร์ จนนึกขึ้นว่า บางทีแล้ว ชีวิตคนเราก็ต้องมีฉากเหมือนในหนังกันบ้าง
ผมเชื่อว่าการดำเนินไปของชีวิตกับการบรรเลงดนตรี มีความคล้ายคลึงกัน ตรงที่มีจังหวะจะโคน มีท่วงทำนอง มีจุดเริ่มต้นและจุดจบ และมีอารมณ์หลายหลากคละคลุ้งอยู่ในนั้น
ชื่อก็บอกว่าเพลงประกอบ หมายความว่ามันต้องเป็นเพลง หรือ ดนตรี ที่มาประกอบกับอะไรซักอย่างแล้วส่งผลกับบรรยากาศหลักในจิตใจ เสียงนั้นอาจบรรเลงขึ้นทันทีทันใด หรือ มาดังตอนนั่งใครครวญถึงอดีต เมื่อนึกถึงเพลง เรามักนึกถึงบางเวลา บางสถานที่ บางอารมณ์ หรือแม้แต่บางคน เป็นส่วนประกอบรวมกันให้เพลงนั้นยังไพเราะ และ ความทรงจำนั้นยังมีความหมาย
หน้าที่ของเพลงประกอบในหนัง มีไว้เพื่อเป็นองค์ประกอบของการเล่าเรื่อง เป็นเสียงที่เราได้ยินขึ้น ทั้งๆที่เราไม่ตั้งใจฟัง เป็นส่วนผสมที่ทำให้อารมณ์ของหนังกลมกล่อม เป็นเสียงที่บอกสถานการณ์บางอย่างที่ตัวละครกำลังเผชิญ หรือแม้แต่เป็นเสียงที่พยากรณ์จุดจบของเรื่องราวได้เลย
หน้าที่ของเพลงประกอบ ในชีวิตจริง ก็ไม่น่าจะต่างกันมากนัก นั่นคือ “มักดังขึ้น” พร้อมกับการนึกถึงเรื่องราวต่างๆ บ่อยครั้ง ที่เพลงนั้นๆเป็นสวิซต์กดเปิดความความทรงจำ ทำให้เราเล่าเรื่องบางฉากบางตอนได้ถึงรสกว่าการไม่มีเพลง ในทางนึงก็ทำให้เรามีความสุนทรีย์กับปัจจุบันขณะ เคลิบเคลิ้มไปกับ รัก โลภ โกรธ หลง ในห้วงขณะใดๆในชีวิตได้พอประมาณเลย
มีเรื่องราวเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน และบางเรื่องก็เป็นเหตุการณ์กระทบใจ บางเพลงที่เผลอได้ยิน หรือหยิบฉวยมาใส่หู จึงทำหน้าที่เป็นช่างก่อสร้าง ประกอบชิ้นส่วนของบรรยากาศ เนื้อหา ความหมาย และเรื่องราว ให้กลายเป็นสิ่งปลูกสร้าง ที่เรียกในอีกชื่อว่า “ความทรงจำ”
หากลองสำรวจรื้อค้นความทรงจำดูดีๆ ในนั้นอาจมีบางเพลง เพราะว่ามีบางเหตุการณ์ บางสถานที่ บางความรู้สึก กับ บางคน ที่กำลังโลดแล่น ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นเรื่องราวที่ฉายใม่เคยจบ และเราเองก็ไม่ต้องการให้จบ บันทึกมันไว้แบบนั้น ไม่ถูกลบเลือนไปด้วยวันเวลา และไม่แยแสกฏแห่งการเสื่อมลง ของเซลล์สมอง
มีเพลงใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ประสบการณ์ใหม่ๆก็เกิดขึ้นตลอด ชีวิตที่มีเพลงประกอบ ก็คงไม่ต่างจากชีวิตที่รู้อดีต – รู้ปัจจุบัน เพราะอย่างน้อยๆก็รู้ว่าในวันที่มีมีความรัก ควรเต้นกับเพลงอะไร หรือในวันที่อกหัก ควรฟังเพลงทำนองไหน เสียงเพลงจะช่วยปลอบประโลมใจ แม้ในวันที่ไม่มีเสียงพูดจากใคร ก็ยังมีเสียงเพลงบรรเลงให้เรา
จะฮิปฮอป ป็อป แจ๊ซ หรือ สกาเร้กเก้ ก็ฟังไปเถอะครับ เต้นไปเถอะครับ ดื่มด่ำกับมัน คิดซะว่า เมื่อมีท่วงทำนองเป็นมิตรสหาย ก็ไม่เห็นต้องเขินอายกับการร่ายรำ และหมกมุ่นกับความสุนทรีย์ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้
บันทึกอดีต บรรเทิงกับปัจจุบัน บรรเลงสู่อนาคต อาจกลมกล่อมขึ้นเมื่อใช้เพลงใส่เข้าไปในเรื่องเล่า การมีเรื่องเล่าที่ดีจะช่วยเยียวยาจิตใจได้ แม้จะไม่ได้เล่าให้ใครฟังเลยก็ตาม เมื่อเริ่มบันทึก เราจะมีหลักฐาน และ เพลงประกอบ อาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่บันทึกร่องรอยของอารมณ์ไว้ได้ดีที่สุดเครื่องมือหนึ่ง
ขณะเขียน ผมฟังเพลงบลูส์บรรเลง ฝั่งขวาเป็นโคมไฟ ฝั่งซ้ายเป็นกระป๋องเบียร์ แน่นอนว่าคืนนี้ผมอนุญาตให้ตัวเองถนัดซ้ายใช้มือไม้ในการหยิบกระป๋องอย่างคล่องแคล่ว ทุๆครั้งที่ถึงท่อนโซโล่ ผมก็ยกกระป๋องดื่มหนึ่งครัง เพลงบรรเลงมาได้ครึ่งอัลบั้ม ปริมาณน้ำในกระป๋องเริ่มลดหลั่น เขียนเสร็จแล้วด้วย ผมมีแค่ 2 ตัวเลือก คือ นอน กับ ออกไปซื้อเบียร์ แน่นอนว่าไม่นอน ผมหยิบกุญแจรถ และวิ่งไปอย่างรวดเร็วไม่แคร์เสียงกีต้าร์โซโล่ หวังแต่ว่า จะกลับมาก่อนการบรรเลงนี้จบ
อ้างอิง
http://digi.library.tu.ac.th/mass/2547/0038/07chapter-3.pdf