Big-Question Phillospphy

คำถามใหญ่ ๆ

‘ชีวิต’มักเต็มไปด้วยคำถามมากมายที่รอให้เราค้นพบและตอบ ทุกย่างก้าวมักมีเรื่องชวนสงสัย ตั้งแต่คำถามใหญ่ๆอย่างเช่น “เราเกิดมาทำไม ?” ยิบย่อยไปจนถึง “วันนี้จะกินอะไรดี?”

 

          เราเกิดมาทำไม?, พึงพอใจกับการมีชีวิตตอนนี้มั้ย?, นึกภาพชีวิตตอนแก่ไว้ยังไงบ้าง ? , ตายแล้วยังไงต่อ ?

          วันนี้แต่งตัวด้วยชุดสีไหนดี?, เย็นนี้จะกินอะไร?, ควรจะเลือกดูหนังเรื่องไหน Netflix ?

          เหล่านี้เป็นคำถามเกร่อ ๆ ที่น่าจะเจอได้ง่าย ๆ ซึ่งก็มีระดับความท้าทายแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ระดับที่ตอบได้ทันทีที่ได้ฟัง ไปจนถึงระดับที่ต่อให้ตายไปแล้วก็คงยังไม่รู้คำตอบ นอกจากนั้นก็ยังมีทั้งคำถามที่จำเป็น ที่ทำเมื่อคุณตอบได้แล้วจะทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น รวมไปถึงคำถามที่ฟุ่มเฟือย ที่อาจไม่นำไปสู่อะไรซักอย่าง

          ผมไม่รู้ว่าเราจะรับมือกับทุกคำถามบนโลกได้ยังไง แต่ผมพอรู้ว่าการจะรับมือกับบางคำถามนั้น เราจำเป็นต้องตอบคำถามใหญ่ ๆ ซักชุดนึงให้ได้เสียก่อน และหนึ่งในวิธีการที่ผมคิดว่าสามารถใช้เป็นหลักการในการดีลกับคำถามต่าง ๆ นี้ มีชื่อเรียกว่า “ปรัชญา”

          ขอบอกไว้ก่อนว่าผมไม่ได้เชี่ยวชาญด้านปรัชญา แอบเขินๆ ด้วยซ้ำที่ต้องมาเขียนเล่าเรื่องนี้ให้คุณฟังทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้เข้าใจมันมากนัก

          แต่ด้วยตัวของปรัชญาเองก็ระบุตัวเองไว้อย่างงี้ เพราะมันคือศาตร์ที่มีไว้ทะลวงความไม่รู้ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางเกินกว่าที่จะสรุปเนื้อหาได้แบบตรงๆ หรือตายตัว ดังนั้น ในฐานะของคนมั่นนิ้ว(ใช้นิ้วพิมพ์ เลยเลี่ยงคำว่ามั่นหน้า) ผมจะขอเล่าให้ฟังอย่างย่นย่อทำนองนี้ครับ

          “ปรัชญา” ไม่ใช่ศาสตร์แห่งคำคม หรือการสร้างประโยคเท่ ๆ หากแต่เป็นศาสตร์แห่งการตั้งคำถาม และการทำความเข้าใจต่อความคิดเบื้องหลังของคำตอบที่ได้รับ โดยปรัชญานั้นจะมุ่งสงสัยและตั้งคำถามใหญ่ ๆ ต่อโลกใบนี้อยู่ 5 ประเด็น นั่นคือ

          1.ปรัชญาสงสัยว่าความจริงคืออะไร(Metaphysics) ความจริงคือวัตถุ คือสสารที่เห็นและจับต้องได้ เป็นเพียงการรับรู้ที่ถูกสร้างขึ้นผ่านจิตสำนึกของเรา หรือว่าเป็นไปได้ทั้งสองทางกันนะ ?

          2.ปรัชญาหมั่นตรวจสอบสงสัยถึงที่มาของความรู้ (Epistemology) ว่าเรารับรู้ความจริงได้อย่างไร ความรู้นี้มีที่มาจากแหล่งไหน หรือเราจะพิสูจน์สิ่งที่เราคิดว่าเป็นความรู้ได้อย่างไร ?

          3.ปรัชญาพยายามระบุระบบของตรรกะ (Logic) ว่าภายใต้คำตอบต่างๆ นั้น ได้ถูกให้เหตุผลโดยใช้สมมติฐาน ข้อมูล มีขอบเขตที่เจาะจง มีแนวโน้มว่าจะมีข้อสรุปที่ตายตัว หรือให้เหตุผลโดยใช้ประสบการณ์ ชุดความรู้หนึ่ง ๆ มีขอบเขตกว้าง ๆ มีข้อสรุปที่ไม่ตายตัว

          4.ปรัชญาอยากรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เรียกว่าจริยธรรม (Ethics) ความดี ความถูกต้อง ความชั่ว ความผิด คืออะไรกันนะ แล้วอะไรคือสิ่งที่ควรทำ หรือไม่ควรทำ หรือแม้แต่คำถามว่าอะไรคือคุณค่าสูงสุดของชีวิต ชีวิตในอุดมคติต้องดำเนินไปแบบใดกันล่ะ ?

          5.ปรัชญาพยายามนิยามสุนทรียะ (Aesthetics) สรุปแล้วความงามคืออะไร เราจะตัดสินได้อย่างไรว่าสิ่งใดงดงาม หรือสิ่งใดไม่งาม เราจะรู้ได้ยังไงว่ารสนิยมแบบไหนที่ดีงามและเหมาะสม

          ผมเชื่อว่าถ้าเราพอที่จะตอบคำถามใหญ่ ๆ เหล่านี้ได้บ้าง เราก็จะรู้ขอบเขตของตัวเรา ว่าเราได้นิยามแต่ละสิ่งไว้อย่างไร เราจะมีความจริงในแบบที่เราเชื่อ เราจะสงสัยในความรู้ใด ๆ ได้ด้วยความคิดเชิงวิพากย์ เราจะมีระบบตรรกะในการสรุปเรื่องราวหนึ่ง ๆ ก่อนที่จะกลายเป็นความเชื่อหรือความเข้าใจ เราจะรู้ระบบของคุณค่าว่าแบบไหนควรแบบไหนไม่ควร เราจะเห็นความงามในแบบที่สายตาของเราเลือกมอง

          อย่างน้อยที่สุด ทั้งหมดนั้นก็จะเป็นคำตอบในแบบของเราเอง ที่ถูกคิดมาอย่างเป็นระบบแล้ว เพียงแต่การตอบคำถามของคุณหลังจากนี้อาจจะซับซ้อนขึ้นนิดหน่อย เพราะต้องเลือกว่าจะตอบในมุมมองไหน

. . .


เช่นคำถามว่า มื้อนี้จะกินอะไรดี ?

          ถ้าเรามองผ่านเกณฑ์ความรู้ เราก็จะได้คำตอบว่า … “เราต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ ให้พลังงานและสารอาหาร และดีต่อสุขภาพ”

          มองผ่านแง่สุนทรียะ เราก็อาจจะได้คำตอบว่า … “ก็ต้องเป็นอะไรที่รสชาติล้ำเลิศและทำให้เราแฮปปี้ที่สุดสิ”

          แต่ถ้ามองผ่านมุมความจริง เราอาจจะได้คำถามเพิ่มอีกว่า … “หรือจริง ๆ แล้วมื้อนี้ไม่ต้องกินก็ได้ ใครล่ะที่กำหนดว่าเราจะต้องกินทุกมื้อ”

. . . .


หรือคำถามว่า เราเกิดมาทำไม ?

          ถ้าเรามองผ่านเกณฑ์จริยธรรมที่อ้างอิงกับศาสนา การเกิดของเราคงเป็นเพราะบาปเพราะเวรกรรม การมีอยู่ของเราจึงมีเพื่อชำระบาปเหล่านั้น

          แต่ถ้ามองผ่านระบบตรรกะ อาจได้คำตอบว่า มันไม่มีเหตุผลอะไรชัดเจนหรอก การเกิดของเราอาจเป็นเพราะธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่ต้องสืบเผ่าพันธุ์ก็เท่านั้นเอง

. . . . .


          ถ้านึกย้อนไปในระหว่างการเติบโตนั้น พวกเราต่างสะสมกรอบความคิดเกี่ยวกับ ความจริง, ความรู้, ตรรกะ , จริยธรรม และ สุนทรียะ กันมาไม่น้อย เพียงแค่อาจจะไม่ได้จัดหมวดหมู่เอาไว้ให้ชัดเจนตามหลักเกณฑ์แบบปรัชญา

          แต่เชื่อสิว่าทุกคนต่างก็ก็มีคำตอบให้กับหลาย ๆ เรื่องในชีวิตกันทั้งนั้นแหละ จะแตกต่างกันไปก็ตรงที่ใครได้เจอกับคำถามแบบไหน และมีมุมมองต่อคำตอบเหล่านั้นยังไงบ้างเท่านั้นเอง

          หากจะลองทบทวนตัวเอง (Rethink) กันอีกสักครั้ง ผมเชื่อว่าคำถามใหญ่ ๆ เหล่านี้ จะมีประโยชน์กับกระบวนการคิดของเราเป็นอย่างมาก การที่เราลองตอบ หรือให้ความหมายกับประเด็นเหล่านี้ในเบื้องต้นได้ ก็จะทำให้เรามีแก่นแกนของความคิดที่ใช้อธิบายหลายสิ่งในชีวิต และพูดหลายเรื่องอยู่บนหลักการเดียวกันในขอบเขตที่เรายึดถือ ซึ่งก็จะช่วยป้องกันไม่กลายเป็นคนบ้ง หรือถูกด่าว่าเป็นคนตรรกะวิบัติได้

          สุดท้ายแล้ว “ปรัชญา” ก็ไม่ใช่ทางออกสำหรับทุกเรื่อง ไม่ได้มีคำตอบที่เที่ยงแท้ให้กับทุกคำถาม จะมีก็แต่การพยายามเข้าใจต่อมุมมองของคำถาม และการคาดการณ์ว่าจะตอบด้วยหลักเกณฑ์แบบใดเท่านั้นเอง ขอย้ำอีกครั้งว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความรู้ในระดับภูมิปัญญา อย่าเชื่อผมไปซะหมดล่ะ ให้คิดซะว่านี่เป็นเรื่องเล่านึงของผมที่มีไอเดียเกี่ยวกับปรัชญาแบบเบสิ๊คเบสิคก็พอ

          อ่อ และถ้าสิ่งที่ผมเขียนเริ่มไปขัดแย้งกับความคิดของคุณ ก็แสดงว่าเรามาถูกทาง เพราะปรัชญาคือการสงสัย ไถ่ถาม และถกเถียง ดูท่าว่าเราน่าจะกำลังเข้าสู่ขอบเขตของปรัชญากันหน่อย ๆ แล้วหละครับ

 

-อ้างอิง-

  คลิปแนะนำวิชาวิชาปรัชญา โดย ภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบคิด ชอบฟัง ชอบการสนทนา แต่ก็เป็นได้แค่มือสมัครเล่นในทุกๆ สิ่งที่ตัวเองสนใจ