grief-cycle-วรธน.สเปซ

อกหักมันอธิบายยากจริงหรือ? ทฤษฏี  Grief Cycle ตอบได้

ชีวิตช่วงไหน ที่งี่เง่า ไร้สาระ และ อธิบายยาก ที่สุด ?

          ‘ อกหักละมั้ง ‘  ฟังเผินๆแล้ว อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกที่สุด แต่ก็เดาได้ว่าถ้าหากมีการจัดอันดับความงี่เง่าในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต อาการอกหักก็คงจะติดชาร์ท 1 ใน 3 แน่นอน – ทำไมน่ะหรือ ? ก็เวลาอกหักแล้วมันเหมือนเสียศูนย์ละสิ จะมีเวลาไหนอีกที่ร่างกายถูกใช้เป็นร่างทรงของความเศร้าได้เท่านี้อีก

          นี่คือช่วงเวลาที่ต้องใช้น้ำตาล้างหน้า สวมใส่เสื้อผ้าที่เรียกว่าความปวดร้าว ไม่รู้เช้ารู้ดึกเพราะเก็บตัวตลอดเวลา กินเบียร์/เหล้า/ยา แทนน้ำเปล่า อาการเช่นนี้คงไม่พบในคนที่มีจิตใจปกติแน่ๆ

          การเดินฟูมฟายในสายฝน ,กรีดแขน ทำร้ายตัวเองต่างๆนาๆ , เศร้าซึมจนต้องอาศัยยานอนหลับหรือเบียร์แรงๆเพื่อให้ผ่านพ้นแต่ละคืนไปได้ ,โกรธเกรี้ยวจนอยากจะวิ่งไปชกหน้ากับคู่กรณี  ,ตัดผมทิ้ง เพราะหวังว่าจะเป็นหมุดหมายในการเริ่มชีวิตใหม่  อาการเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่แค่ในเอ็มวีของเพลงอกหัก

          หากแต่ในชีวิตจริงก็พบเจอเรื่องราวแบบนี้ได้บ่อยๆจากข่าว เรื่องลือ พฤติกรรมของเพื่อน หรือแม้แต่ความรู้สึกของตัวเองในวันที่ต้องผิดหวังกับความรัก พฤติกรรมเหล่านี้มีที่มา หาแก่นสารได้ และไม่ไร้สาระไปซะทั้งหมด

          เรื่องเหล่านี้อธิบายได้ ด้วยทฤษฏี  Grief Cycle ของ Kubler-Ross ซึ่งเป็นทฤษฏีที่อธิบาย วงจรชีวิตของความผิดหวัง ด้วยการแบ่งลำดับ และแยกประเภทออกเป็นประเด็นใหญ่ๆ 5 ระยะ ที่การันตีได้ ว่าทุกคนต้องวนเวียนอยู่ในภาวะเหล่านี้ จนกว่าจะกลับมามีศูนย์ถ่วงตามเดิม

          อธิบายความผิดหวังผ่านทฤษฏี Grief Cycle

การไม่ยอมรับ grief cycle

ระยะที่ 1: การไม่ยอมรับ (Denial)

          เป็นระยะที่มีความรู้สึกหลายรูปแบบ มีความสับสน รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมาย ในระยะนี้ประกอบไปด้วย การไม่ยอมรับ และความตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไปต่อไม่ถูกเพราะจมกับความงุนงงสุดขีด

 

ความโกรธ grief cycle

ระยะที่ 2: ความโกรธ (Anger)

          เข้าสู่ความโกรธเกรี้ยวต่อผู้ที่เป็นสาเหตุให้เราผิดหวัง เป็นระยะที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการฟื้นฟูจิตใจ ผู้ที่อยู่ในระยะนี้ ควรเต็มใจ และปลดปล่อยจิตใจให้แสดงความโกรธ โดยไม่พยามปิดกั้นไว้ ยิ่งรู้สึกมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งระบายความเจ็บปวดออกจากจิตใจได้มากขึ้นเท่านั้น

 

ลดคุณค่าของตนเอง  grief cycle

ระยะที่ 3: การมีความคิดลดคุณค่าของตนเอง (Bargaining)

          เป็นช่วงเวลาที่นึกย้อนกลับไปเพื่อหาความผิดของตัวเอง โดยผู้ที่อยู่ในระยะนี้ จะมีแต่คำว่า “ถ้าหากว่า …” อยู่ในหัว และจะกล่าวโทษตัวเอง พยายามขอโอกาสในการแก้ไขความผิดนั้น อยากทำทุกอย่างเพื่อให้ความสัมพันธ์กลับมาดังเดิม ความสนใจทั้งหมดจะอยู่ที่การยอมแพ้ และ ขอแก้ตัวใหม่ จึงทำให้ความเศร้าโศกนั้น เข้าไปสู่จิตใจอย่างลึกซึ้ง

 

การซึมเศร้า  grief cycle

ระยะที่ 4: การซึมเศร้า (Depression)

          เป็นผลต่อเนื่องจากระยะที่ 3 การมีความคิดในเชิงลดคุณค่าของตนเอง (Bargaining)  ในช่วงการซึมเศร้า ผู้ที่อยู่ในระยะนี้จะรู้สึกว่าความทุกข์จะอยู่ไปตลอดกาล พ่ายแพ้ต่อทุกสิ่งอย่าง แม้แต่ตัวเอง และจะสูญเสียการควบคุมทั้งอารมณ์ และร่างกายของตนเอง จนอาจนำไปสู่การคิดสั้นได้

 

ยอมรับ grief cycle

ระยะที่ 5: ยอมรับ (Acceptance)

          เป็นระยะของการตื่นรู้ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความจริง และพยายามใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ ในระยะนี้จะไม่มีความโมโห และโกรธ หรือจมอยู่ในความซึมเศร้าเหมือนที่ผ่านมา จะหันมาดูเเลตนเอง ฟังในสิ่งที่ตนเองต้องการมากขึ้น และสามารถใช้ชีวิตประจำวันโดยไม่มีความเศร้าโศกได้ ถ้าไม่ย้อนกลับไปยังระยะเดิมที่ผ่านมาอีก

          การเศร้าโศกจากความรักในแต่ละระยะนั้น ไม่จำเป็นที่ต้องเรียงตามลำดับ มนุษย์สามารถตกอยู่ในระยะใดระยะหนึ่ง แล้วก้าวไปสู่อีกระยะ หรือ อาจวนกลับมาที่จุดเดิมก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับทัศนคติ และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป

. . . . . . . .

          แม้ทฤษฎี Grief Cycle จะเร้าให้เรามีความเห็นร่วมได้ แต่โดยร่วมก็ไม่มีประโยชน์นักหากจะนำมาใช้แก้ปัญหา หากแต่จะเป็นทฤษฏีที่ทำให้เราเข้าใจ ว่าเรายืนอยู่ตรงไหนบนแผนที่ของความผิดหวัง ถึงจะไม่มีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจน แต่อย่างน้อย ก็ทำให้รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน และไม่หลงทางไปกับบางระยะที่ทำร้ายเราด้วยการครอบงำให้เราเชื่อว่าความทุกข์นี้จะอยู่กับเราตลอดไป

          ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ระยะของการตื่นรู้จะมาถึงเสมอ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขอเป็นกำลังใจ และขอให้ทุกคนรู้ไว้ว่าความผิดหวัง หรือการอกหักในครั้งนี้ คือการเดินทาง ชีวิตมีระยะต่อไปให้เหยียบย่างอยู่เสมอ

          ในช่วงเวลานี้ ชีวิตที่มีเพลงประกอบ อาจช่วยฉาบให้ความปวดร้าวเป็นเรื่องที่งดงาม ขอให้ดื่มด่ำ และ สุนทรีย์ไปกับความผิดหวังจากความรักนะครับ

 

อ้างอิง

https://www.tci-thaijo.org/index.php/tstj/article/download/17187/15491/

 

 

ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบคิด ชอบฟัง ชอบการสนทนา แต่ก็เป็นได้แค่มือสมัครเล่นในทุกๆ สิ่งที่ตัวเองสนใจ